วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วิจารณ์ The Lake House บ้านทะเลสาบ บ่มรักปาฏิหารย์

The Lake House

 เป็นภาพยนตร์ โรแมนติก ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอกทั้งสองคน ที่อยู่ในปีคริสต์ศักราชที่แตกต่างกันพระเอกมีชีวิตอยู่ในปี 2004 ส่วนนางเอกมีชีวิตอยู่ในปี 2006 เธอจึงเป็นเหมือนอนาคตของเขา



 การเริ่มต้นของ The Lake House เปิดตัวด้วยละคร นางเอกของเรื่องพบว่ามีชายคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุถูกรถชนเธอรีบวิ่งเข้าไปดูและโทรเรียกรถพยาบาล เธอเป็นแพทย์ของคนไข้ผู้โชคร้ายคนนั้นแม้จะพยายามแล้วแต่ก็ไม่สามารถจะช่วยของเขาไว้ได้เธอเสียใจ เพื่อนที่เป็นแพทย์ด้วยกันจึงแนะนำเธอให้ไปพักผ่อน เคทจึงเลือกที่จะไปยังบ้านริมทะเลสาบ และความรักแสนโรแมนติกก็เริ่มต้นขึ้น    
                การดำเนินเรื่องใช้เทคนิคการตัดฉากสลับไปมา ระหว่างชีวิตของพระเอก กับชีวิตของนางเอก
ซึ่งอยู่ในคนละช่วงเวลา แต่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยผ่านสื่อกลางคือ ตู้รับจดหมายที่ตั้งอยู่หน้าบ้านริมทะเลสาบ เริ่มจากจดหมายฉบับแรกที่เคท ตั้งใจส่งถึงผู้ที่จะมาอาศัยต่อหลังจากที่เธอย้ายไปแล้ว  แต่ปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับจดหมาย กลับเป็นคนที่อยู่ในอดีตของเธอย้อนไปสองปี ซึ่งเขาทั้งสองก็ต่างคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ แต่ความน่าเหลือเชื่อนั้นกลับกลายเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือขึ้นมาได้ เมื่อจากคำบอกเล่าของนางเอกว่า “ขอโทษผู้มาอยู่ใหม่
เกี่ยวกับรอยเท้าของสุนัขที่อยู่หน้าบ้านซึ่งในตอนแรกพระเอกไม่เห็นว่ามีปรากฏอยู่


จนในเวลาต่อมาเมื่อสุนัขซึ่งตอนหลังได้ชื่อว่า อเล็กซ์ ที่พลัดหลงมา ได้มาทำให้เกิดรอยเท้าที่เช็ดไม่ออก พระเอกจึงเริ่มเชื่อในสิ่งที่นางเอกพูดจนกระทั่งถึงฤดูหนาวนางเอกเตือนว่า จะเกิดโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ขึ้น และก็เป็นอย่างที่เธอพูด ทั้งสองคนจึงติดต่อกันผ่านทางจดหมาย เรื่อยมาจนเกิดความรักซึ่งกันและกัน พวกเขาจึงหนทางที่จะได้พบกัน เรื่องราวของความรักความโรแมนติกเกิดขึ้นไปพร้อมๆกับการดำเนินเรื่องที่ราบเรียบ แต่ด้วยผู้ที่ได้รับบทนำทั้งสอง ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ดี จึงทำให้เป็นเสน่ห์และนำติดตามชม ตอนจบของเรื่องพวกเขาก็สามารถผ่านพ้นอุปสรรคแห่งห้วงเวลาจนได้พบกันในที่สุด
                The Lake House ตั้งชื่อเรื่องตามฉากนั่นคือ บ้านที่อยู่ริมทะเลสาบ ซึ่งใช้ฉากเหมาะสมกับหนังรักโรแมนติกกล่าวคือ ใช้ฉากที่เน้นเป็นบ้านที่มีบรรยากาศเป็นธรรมชาติเป็นทะเลสาปที่แสนสงบ เพื่อสื่อถึงความโรแมนติก อาจจะมีคนตั้งคำถามว่าทำไมจึงไม่ให้บ้านอยู่ในตัวเมืองหรืออยู่ที่ใดที่หนึ่งนอกจากริมทะเลสาบ ก็คงตอบได้ด้วยเหตุผลว่า ผู้สร้างต้องการให้หนังเรื่องนี้มีความสวยงามและความโรแมนติก



ความแปลกใหม่ในมิติของหนังต่างช่วงเวลา
                หนังเรื่องนี้มีช่วงเวลาห่างกัน 2 ปี ในขณะที่หนังเรื่องอื่นใช้ช่วงเวลาที่ต่างกันมาก และน่าแปลกที่คนที่อยู่กันคนละช่วงเวลาสามารถมาพบเจอกันได้โดยใช้จดหมายเป็นสื่อ การที่หนังเรื่องนี้ใช้ช่วงเวลาห่างกัน 2 ปี นอกจากแปลกใหม่แล้วยังทำให้เกิดข้อได้เปรียบต่อการดำเนินเรื่อง ความได้เปรียบที่ว่านี้ก็คือตัวละครสามารถกำหนดระยะเวลและวางแผนเพื่อที่ทั้งคู่จะสามารถพบกันได้ แต่มีข้อแม้ที่ต้องอาศัยการรอคอย ทำให้ความเหลือเชื่อกลายเป็นเรื่องที่น่าเชื่อขึ้นมาได้

 สิ่งที่ความห่างของระยะเวลาแค่ 2 ปี ยังทำให้นางเอกที่ไม่สามารถย้อนไปในอดีตได้ ได้กลับไปแก้ไขบางสิ่งโดยความช่วยเหลือของพระเอก เช่น ฉากที่นางเอกให้พระเอกช่วยเก็บหนังสือที่นางเอกลืมไว้ที่สถานีรถไฟแล้วขอให้พระเอกช่วยเก็บหนังสือเล่มนั้นไว้ให้ และอีกฉากหนึ่งซึ่งสำคัญที่เป็นจุดวิกฤติของหนังเรื่องนี้ คือฉากที่นางเอกระลึกได้ว่าผู้ชายที่ถูกรถชนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เมื่อสองปีที่แล้วนั้นคือ อเล็กซ์ ไวท์เลอร์  บุคคลเดียวกับที่เคทได้ติดต่อและตกหลุมรัก  เธอส่งจดหมายไปบอกเขาว่าถ้ารักเธอ อย่าเพิ่งข้ามถนนมาหา ให้รอเธออยู่ตรงนั้น  แล้วเธอจะไปหาเขาที่บ้านริมทะเลสาบเอง  ซึ่งการแก้ไขของเคททำให้ในที่สุด เธอก็ได้พบอเล็กซ์ที่บ้านริมทะเลสาบ
ความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับจิตใจของตนเอง
                เป็นเพราะพระเอกจะข้ามถนนเขาจึงต้องตายและไม่ได้พบกับนางเอก แต่เมื่อนางเอกบอกเขาว่าอย่าข้าม ให้รอเธอก่อน เขาได้ยกมือที่ถือจดหมายของเคทอยู่นั้นขึ้นมาและอ่านมันอีกครั้งที่ขอให้เขารอเธออีก 2 ปี และตัดสินใจที่จะเดินกลับไปยังทางเท้า แล้วแยกตัวเขาเองออกมาจากโชคชะตาเดิมของเขา ความขัดแย้งนี้นำไปสู่จุดที่คลี่คลายปมของเรื่อง ทำให้เขาได้ครองรักกับนางเอก อีกทั้งยังสามารถหลบหลีกการเสียชีวิตของตัวเองอีกด้วย

การใช้ตู้จดหมายเป็นตัวกลางที่ทำให้ทั้งสองได้มารู้จักกัน
                “จดหมาย” นับเป็นสื่อกลางที่ดีที่ใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวของความรัก ซึ่งปกติแล้วการเขียนจดหมายเราต้องรู้จักกับผู้หมยปลายทาง  แต่การเขียนจดหมายในเรื่องนี้เริ่มต้นจากการที่นางเอกต้องการทิ้งข้อความไว้ให้พระเอกเพื่อต้อนรับผู้อาศัยใหม่ที่มาอยู่บ้านที่ตนเคยอยู่
                จะเห็นได้ว่าตลอดทั้งเรื่องจะเป็นการโต้ตอบกันทางจดหมาย  รู้จักกันและเกิดความรักขึ้นโดยผ่านตัวหนังสือ  เหมือนกับการติดต่อกันในอดีต ดูได้จากหนังรักสมัยก่อน มีการจีบเกี้ยวพาราสีผ่านทางจดหมาย
                นอกจากนี้จดหมายยังแสดงถึงการรอคอย คอยการตอบหลับมาของอีกฝ่ายด้วยความมุ่งมั่นและผูกสายใยรักผ่านตัวอักษรที่ถ่ายทอดความรู้สึกของจิตใจ

                หากจะวิเคราะห์พฤติกรรมที่เคทกับอเล็กซ์สื่อสารผ่านทางจดหมายมาเปรียบเทียบกับการติดต่อสื่อสารในปัจจุบันเราก็จะนึกถึงการติดต่อผ่านการแชทคุยกัน ติดต่อกันผ่านทาง E-mail แม้จดหมายจะมีความเร็วไม่เท่าสื่อ Electronics เหล่านี้ แต่การติดต่อทั้งสองแบบนี้มีเหมือนๆกันก็คือ การแสดงออกผ่านตัวอักษรที่สามารถทำให้อีกฝ่ายจินตนาการได้ว่า เจ้าของสำนวนตัวอักษรเหล่านั้นมีลักษณะอย่างไร และความรักที่เกิดขึ้นผ่านการสื่อสารทางภาษาเขียน แม้ไม่เคยพบหน้ากันจึงไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อแต่อย่างใด เพราะเกิดขึ้นได้จริง

ดังที่ปรากฎในเรื่อง ทั้งจากข่าวของการพบรักผ่านสื่อ Electronics ที่เราเคยได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเราจะเห็นในหนังรักหลายๆเรื่องที่จะใช้การสื่อสารผ่านจดหมายแทนการสื่อสารวิธีอื่นนั้นบอกได้ว่าการเขียนจดหมายถึงกันแสดงได้ถึงการเอาใจใส่ ความพยายาม อดทนรอคอย จึงทำให้หนังรักที่มีการติดต่อผ่านจดหมายสามารถเข้าถึงความรักและจริงใจที่ผู้สร้างต้องการสื่อออกมาแก่ผู้ชม 




                ท้ายที่สุดแล้ว
The Lake House ได้ฝากแง่มุมความคิดเกี่ยวกับความรักให้เราได้รู้ว่าความรักนั้นมีอิทธิพลมากเพียงใด  สามารถทำให้เกิดความหวังและเป็นแรงบันดาลทำให้เกิดสิ่งต่างๆได้ ทำให้สามารถ
รอคอย อดทนและข้ามพ้นอุปสรรค  หากเรามีความเชื่อมั่นในความรัก
                แม้เวลาคือสิ่งที่มนุษย์คิดขึ้นมาเพื่อกำหนดกรอบชีวิตของตนเองแต่มนุษย์ไม่สามารถหยุดหรือย้อนเวลาได้ แต่สิ่งหนึ่งที่บ้านทะเลสาบแห่งนี้ได้มอบให้แก่เราทุกคนคือความรักที่มีกฎของกาลเวลาไม่สามารถขวางกั้น

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มอม

เรื่องย่อ

มอมเป็นสุนัขพันธุ์ทางที่เกิดขึ้นเพราะอุปัทวเหตุ  มีนายและนายผู้หญิงเลี้ยงดูมันด้วยความรักความเอาใจใ่ส่  มอมเป็นสุนัขที่ฉลาด  ซื่อสัตย์ และเชื่อฟังคำสั่งของนาย  มอมไม่ได้รักนายเท่าชีวิตแต่นายนั้นคือชีวิตของมอม  จนกระทั่งนายต้องรับหน้าที่ไปเป็นทหารในระหว่างสงครามโลก ซึ่งก่อนจะไปนายได้ฝากนายผู้หญิงกับหนูไว้กับมอม  นายผู้หญิงซึ่งไม่มีรายได้อะไรเลยก็ไม่สามารเลี้ยงมันได้อย่างสุขสบายเหมือนแต่ก่อน  มอมต้องไปคุ้ยขยะกินเหมือนหมาข้างถนนตัวอื่นๆ มันใช้เวลาส่วนมากในการนอนที่หัวกระไดบ้านเพื่อคอยนายตามที่นายเคยสั่งไว้

มอมคอยนายจนกระทั่งผ่านไป 2 ปี  นายก็ยังไม่กลับมา  แต่กลับมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น มอมได้ยินเสียงเครื่องยนต์ซึ่งจริงๆ แล้วนั่นคือระเบิดที่ฆ่าชีวิตนายผู้หญิงและหนูไปจากมอม  ทำให้มอมคิดว่าคนทั้งโลกกลายเป็นศัตรู  เพราะคนเหล่านี้ทำให้นายจากไป มอมโดนสะเก็ตระเบิดที่ขาหลัง  เมื่อกำลังมันอ่อนลงทุกวัน หลังจากนั้นมอมก็โซซัดโซเซไปหลบเงานอนอยู่ที่ประตูหน้าบ้านใหญ่ริมถนนแห่งหนึ่ง  จนกระทั่งมีเด็กผู้หญิงมาพบมอนและเก็บมันไปเลี้ยงอย่างดี  และตั้งชื่อใหม่ให้มันว่า "ไอ้ดิ๊ก"  แต่มอมก็ไม่เคยลืมชื่อจริงของมันที่นายตั้งให้  ถึงแม้ว่ามอมจะรักคุณแต๋ว  มันก็รักเพราะมือที่ให้ข้าวมันกิน  คุณแต๋วไม่ใช่ชีวิตของมอม  มอมยังคงนั่งสังเกตดูคนที่เดินผ่านไปผ่านมา  เผื่อว่าจะเจอนายของมัน

คืนวันหนึ่งในฤดูร้อนอีก 2 ปีต่อมา  มอมได้พบชายผู้หนึ่งกำลังจะเข้ามาขโมยของที่บ้านคุณแต๋ว กลิ่นของชายผู้นั้นเป็นกลิ่นที่มอมรู้จักดี  เป็นกลิ่นที่มันเฝ้าคอยมาเป็นแรมปี  นั่นคือนายของมันนั่นเอง



ตัวละคร

มอม  เป็นตัวละครที่ซื่อสัตย์  มีความจงรักภักดีต่อนาย  ไม่ลืมตัว  จากตอนที่มอมอยู่กับคุณแต๋วมานาน  แต่มันก็ไม่เคยลืมนายและชื่อที่แท้จริงที่นายมันตั้งให้ คือ  "ไอ้มอม"   เป็นตัวละครที่มีพัฒนาการ  และมีลักษณะนิสัยพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์  เช่น  ตอนที่มันไปคุ้ยหาอาหารกินในถังขยะ

นาย  เป็นตัวละครที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะและสถานการณ์ที่บีบบังคับ  เพื่อความอยู่รอด  ดังตอนที่นายเข้าไปขโมยของในบ้านคุณแต๋ว 



โครงเรื่อง
  
ในรื่องนี้ มีโครงเรื่องที่นำไปสู่ความขัดแย้งและการคลี่คลายของเรื่อง ดังที่ปรากฏในเรื่อง ดังนี้

- ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม คือ ตัวละครนายที่มีความขัดแย้งกับสภาพสังคมในสมัยนั้น คือมีการเกณฑ์ชายไทยไปทำหน้าที่รักษาบ้านเมืองในช่วงวิกฤติสงครามโลก ซึ่งทำให้เรื่องดำเนินไปถึงจุดวิกฤติต่างๆ เช่นจุดที่ทำให้ครอบครัวนายของมอมขาดเสาหลักของบ้าน 

- ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับจิตใจ คือความขัดแย้งในจิตใจของตัวละครนาย เขาได้ต่อสู้กับอำนาจมืดในจิตใจของตัวเอง นั่นคือการคิดลักขโมยทั้งที่ใจจริงไม่อยากทำ ดังคำพูดจากเรื่องคือ "ข้าหมดหนทางจริงๆ มอมเอ๋ย แต่เอ็งอย่านึกว่าข้าเคยลักขโมย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก พอดีพบเอ็ง เอ็งก็ทำให้ข้าต้องอาย ทำไม่ลง"




แก่นเรื่อง

กล่าวถึงความจงรักภักดีของสุนัขตัวหนึ่งที่มีต่อเจ้าของ ซึ่งมันคิดว่าคือชีวิตของมอม  ดังช่นในคำพูดที่ว่า "มอมไม่ได้รักนายเท่าชีวิต แต่นายคือชีวิตของมอม" และ "มอมมันเป็นหมาที่มีแต่หัวใจและหัวใจของมันก็มอบให้นาย"


ข้อคิดและคุณค่าที่ได้จากเรื่อง

1. ข้อคิดจากแก่นเรื่องด้านของความจงรักภักดีที่ไม่ได้มีเฉพาะกับมนุษย์ผู้เรียกตนเองว่าสัตว์ประเสริฐเท่านั้น
2. การรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคม 
3. การรู้จักเอาตัวรอด
4. การไม่ทำตัวเป็นวัวลืมตีน


 มอง - มอม 

 ในหัวข้อนี้เราจะวิเคราะห์แง่มุมต่างๆ ซึ่งผู้แต่งอาจจะต้องการสะท้อนแง่คิดและมุมมองที่ตนมีต่อสภาพสังคมในสมัยนั้นรวมถึงมุมมองความรู้สึกของสุนัข มีการใช้ตัวละครมอมเป็นสื่อ หากมองให้ดีแล้ว ในเรื่องมอม แฝงสภาพสังคมและความเป็นอยู่ที่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นอยู่บ้างว่าคนในสมัยนั้น มีการใช้ชีวิตอย่างไร เราจะได้เห็นดังต่อไปนี้
  
พฤติกรรมสุนัข   แสดงใหุ้เห็นว่าผู้แต่งมีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมในทุกช่วงชีวิตของสุนัขเป็นอย่างดี  จนทำให้ผู้อ่านเหมือนกับเข้าไปมีประสบการณ์ร่วม กล่าวคือ เหมือนได้ไปเห็นพฤติกรรมด้วยตาตนเอง ดังจะบอกให้เข้าใจถึงสัญชาติญาณและวิถีชีวิตของสุนัข เช่นในตอนที่กล่าวว่า "ถ้าจะออกจากบ้านไปไหน จะต้องถ่ายปัสสาวะรายทางไว้ สำหรับดมกลิ่นของตนเองกลับบ้านได้ถูก ที่ที่จะถ่ายรดนั้นก็ต้องเป็นที่ที่สังเกตได้ง่าย สูงเพียงระดับจมูก ไม่ต้องก้มลงดมให้เสียเวลา เป็นต้นว่าเสาไฟฟ้าหรือต้นไม้ข้างทาง ออกจากบ้านเดินไปก็ต้องยกขาถ่ายรดเอาไว้เป็นสำคัญ แต่ถ้ามีหมาตัวอื่นมาถ่ายทับเสีย  กลิ่นนั้นก็เพี้ยนไป อาจถึงกลับบ้านไม่ถูก หรืออย่างน้อยก็ต้องลำบากทุลักทุเล  การถ่ายปัสสาวะรดที่ตัวอื่นทำไว้แล้ว จึงเป็นอนันตริยกรรมของสุนัข"  

มุมมองที่สะท้อนสภาพสังคมครอบครัวสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สังคมไทยในอดีต มีสภาพสังคมที่ผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัว เป็นเสาหลักของบ้าน ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่เป็นภรรยา ทำหน้าที่แม่บ้านเลี้ยงดูลูก ไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ซึ่งในสังคมปัจจุบัน บางครอบครัวก็ยังเห็นบทบาทของคนในครอบครัวเช่นนี้อยู่เหมือนกัน  แต่อาจจะมีความแตกต่างอยู่บ้าง ตรงที่ในสมัยปัจจุบัน รายได้ของคนในครอบครัวไม่ได้มาจากผู้ชายเสมอไป ผู้หญิงก็สามารถหารายได้มาจุนเจือครอบครัวได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสังคมที่เปิดรับมากขึ้น  ผู้หญิงอาจถูกเรียกได้ว่า เป็นเวิร์คกิ้งวูเม่น (working woman)  สามารถที่จะเลี้ยงดูตนเองพร้อมกับลูกได้ แม้จะไม่มีสามีคอยเป็นเสาหลักของครอบครัว แต่ในเรื่องมอม เราจะเห็นได้ว่าผู้หญิงสมัยนั้นต้องพึ่งพาผู้ชายและไม่สามารถจะช่วยเหลือตนเองได้เลยหากขาดสามีผู้เป็นเสาหลักไป ดังเช่นนายของมอมต้องไปออกรบในสงคราม ทำให้นายหญิงและลูกไม่มีรายได้ จนต้องขายเครื่องใช้ในบ้านกิน ทั้งยังต้องอดมื้อกินมื้อจนร่างกายผ่ายผอมและดูเหมือนว่าจะสิ้นไร้หนทางที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ในอนาคต


มอมกับแง่คิดการเสียดสีสังคม


เราจะเห็นได้จากแง่คิดในด้านความซื่อสัตย์ของมอมที่ผู้เขียนอาจต้องการเสียดสีสังคมสมัยนั้นก็เป็นได้ โดยเปรียบเทียบความจงรักภักดีของมอมที่มีต่อนายกับคนบางกลุ่มในยุคสมัยดังกล่าวที่ว่า แม้ว่ามอมจะได้ไปอยู่กับเจ้านายใหม่ที่มีฐานะร่ำรวย สามารถเลี้ยงดูมอมได้อย่างสุขสบาย แต่มอมก็ยังเลือกที่จะไปอยู่กับนายเก่าของมันที่อาจจะไม่สามารถเลี้ยงดูมันได้ดีเท่ากับเจ้านายใหม่ก็ตาม แต่ด้วยความจงรักภักดีที่มีต่อเจ้านายเก่า ซึ่งมอมเห็นว่าได้เลี้ยงดูมันตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่อีกทั้งมีตอนหนึ่งในเรื่องกล่าวไว้ว่่า 
"มอมมันจำกลิ่นไว้ได้ กำหนดสัญญาไว้ว่าคนคนนั้นเป็นนายของมัน แล้วมันก็รัก" เป็นความซื่อของสัตว์ที่ถูกมนุษย์เรียกว่าเดรัจฉาน  หากแต่มีความกตัญญูต่อเจ้านายและรากเหง้าของมัน ในทางตรงกันข้าม มนุษย์บางกลุ่มในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยสงครามขณะนั้น ได้ลืมรากเหง้าของตนเองและให้ความนิยมชมชอบเทิดทูนในความเป็นต่างชาติเพียงจะได้รับผลประโยชน์ เพื่อทำให้ตนเองสุขสบาย ละเลยความจงรักภักดีและศีลธรรมที่ควรจะมีในฐานะเป็นมนุษย์


มอมจึงเป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีคุณค่าในด้านแนวคิด คนทุกยุคทุกสมัยควรจะได้อ่าน